ชุมชนเจ๊ะเห ภาษาเจ๊ะเห/ภาษาตากใบ


ปัจจุบันกรมศิลปากรได้บูรณะปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน
อาคารพื้นถิ่นภาคใต้ที่สวยคลาสสิก หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องดินเผา ยอดจั่วประดับรูปครุฑ ผนังไม้ฉลุเป็นช่องเล็ก ๆ เพื่อรับลมระบายอากาศ
บันไดมีหลังคาคลุมมาถึงชาน สอดคล้องกับพื้นที่ฝนตกชุกของปักษ์ใต้บ้านเรา
ตำบลเจ๊ะเห ของอำเภอตากใบ ในจังหวัดนราธิวาส เป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่ต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีภาษาถิ่นเป็นของตนเอง นั่นคือ ภาษาเจ๊ะเห หรือ ภาษาตากใบ ที่เมื่อได้ทักทายพูดคุยกับผู้คนในชุมชน จะสะดุดหูกับสำเนียงภาษาที่มีความไพเราะแตกต่างจากภาษาถิ่นใต้ทั่วไป ทั้งคำศัพท์และสำเนียงที่เนิบช้า เอื้อนยาว ไม่ห้วนสั้น
ชาวเจ๊ะเห ยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและภาษาเจ๊ะเห ที่สืบทอดสายตรงมาจากภาษาสุโขทัยตั้งแต่ พ.ศ. 2293 มีข้อมูลศึกษาพบว่า ภาษาเจ๊ะเห/ตากใบมีคำศัพท์คล้ายคลึงกับภาษาไทยถิ่นเหนือและภาษาไทลื้อ น่าชื่นชมที่ชาวเจ๊ะเห ยังคงสืบทอดภาษาที่มีเอกลักษณ์ไว้ได้จนปัจจุบัน แม้จะถูกแวดล้อมด้วยภาษามลายูปาตานีมาตั้งแต่อดีต จนได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติไทย ประเภทภาษาถิ่น เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

ชาวบ้านทั้งชาวพุทธและมุสลิมแวะเวียนมาจับจ่าย ทักทายปราศรัยด้วยสำเนียงเจ๊ะเห

ใส่บาตรรับศีลรับพร ก่อนเริ่มต้นวันอย่างสดใส
ตัวอย่างภาษาเจ๊ะเห ที่มักจะได้ยินจากคนเจ๊ะเหในตากใบ ถามไถ่ทักทายกันบ่อยครั้ง ก็ได้แก่
คำถามที่มักลงท้ายด้วยคำว่า “หมี” หรือ “หมิ” ที่แปลว่า ไหม, หรือยัง
เช่น “กินข้าวแล้วหมี” แปลว่า กินข้าวหรือยัง , “กินข้าวหมิ” แปลว่า กินข้าวไหม
และ “มานานแล้วหมี” แปลว่า มานานแล้วหรือยัง
สถานที่ที่จะได้พบปะกับชาวเจ๊ะเหส่วนใหญ่ ก็คือ วัดชลธาราสิงเห วัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอตากใบ ที่มีความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรมที่สวยงาม อันเป็นศูนย์กลางชุมชนของชาวเจ๊ะเห/ตากใบ

มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสีสดงดงาม เขียนโดยจิตรกรพื้นบ้าน เป็นพุทธประวัติที่สอดแทรกภาพศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ประเพณี การละเล่นต่าง ๆ มีชาวจีน แขก และฝรั่งต่างชาติ มีคาราวานสินค้า และเรือแพที่ใช้โดยสารติดต่อกันในสมัยนั้น

นอกจากชาวพุทธเจ๊ะเหแล้ว ชาวมุสลิมหลายคนในชุมชนใกล้เคียงก็สามารถสื่อสารภาษาเจ๊ะเหได้เป็นอย่างดี เนื่องจากชุมชนโดยรอบในตำบลเจ๊ะเห มีสัมพันธไมตรีอันแน่นแฟ้นระหว่างคนต่างศาสนาตั้งแต่วัยเด็ก เพราะไม่ว่าชาวมุสลิมบนเกาะยาว หรือพื้นที่ใกล้เคียงในตากใบ ต่างก็ได้รับการศึกษาวิชาพื้นฐานที่โรงเรียนวัดชลธาราสิงเหเหมือนกัน ทำให้ทั้งเด็ก ๆ และผู้ปกครองสนิทสนมคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
หากได้ไปเยือนวัดชลธาราสิงเหตรงกับวันพระ จะได้สัมผัสบรรยากาศงานบุญที่ชาวเจ๊ะเหในชุมชนมารวมตัวกันประกอบพิธีทางศาสนาและร่วมวงกินข้าวกันอย่างอบอุ่น อาจจะได้ยินคำถาม “กินข้าวแล้วหมี” พร้อมกวักมือชักชวน ก็เป็นได้
#ใต้สุดอยู่ไม่ไกล
#ใต้ธงไทยเดียวกัน
#นราธิวาส
#ภาษาเจ๊ะเห #ภาษาตากใบ#วัดชลธาราสิงเห
#เกาะยาว #สะพานคอยร้อยปี