งานมหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ
วธ.ประเดิมงาน 1 ครอบครัว 1 Soft Power รุกเปิดงาน
“มหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ” 18 – 22 เม.ย.นี้
“สุดาวรรณ” นำทีม 200 ผู้ประกอบการ โชว์ผลิตภัณฑ์ชุมชน – ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมคุณภาพเยี่ยม ยกระดับ ๔ อุตสาหกรรม “ท่องเที่ยว ศิลปะ ดนตรี และอาหาร” จัดเวทีเจรจาจับคู่ธุรกิจ – ขยายตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนทั้งในและสู่ต่างประเทศ ดัน “เศรษฐกิจวัฒนธรรม” กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ
วันศุกร์ที่ 18 เมษายน 2568 นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ โดยมีนางสาวเพชรรัตน์ สายทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นางรักชนก โคจรานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม รศ.ดร. คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัชนี กุลยานนท์ รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม รศ.ดร. สุรพงษ์ สิริพงศ์ดี คณบดีวิทยาลัยการจัดการนวัตกรรมและอุตสาหกรรม และ ดร.สุรภีร์ โรจนวงศ์ นายกสมาคมการค้าส่งเสริมหัตถกรรมไทย ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ณ ชั้น 5 เวทีกลาง พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
นายประสพ เรียงเงิน กล่าวว่า ตามนโยบายนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาชุมชน สังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน ตามกรอบแนวคิดหลักคือขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรมโดยส่งเสริมศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของ “คน” มาใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อส่งเสริม Soft Power ในการพัฒนาทักษะและปลดล็อกศักยภาพคนไทยคู่ขนานไปกับการเพิ่มการเข้าถึงศิลปวัฒนธรรมของผู้คน ผ่านโครงการส่งเสริมทักษะสู่การเป็นแรงงานศักยภาพสูงและตั้งเป้าหมายว่าผู้ประกอบการชุมชนได้รับการพัฒนาส่งเสริมทักษะด้าน Soft Power เพื่อให้ผู้ประกอบการนำความรู้ นำทักษะไปใช้สร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว ที่สำคัญนำมิติด้านวัฒนธรรมอัตลักษณ์ความเป็นไทยเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการของไทย รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีโลก
“วธ. ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สมาคมการค้าส่งเสริมหัตถกรรมไทย ภาคเอกชน และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ภายใต้โครงการขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power ผ่าน ๑๑ กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูง โดยจัดฝึกอบรม Upskil lและ Reskill จากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Soft Power ใน 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ การท่องเที่ยว ศิลปะ ดนตรี และอาหาร รวมถึงขยายโอกาสทางการตลาด และส่งเสริมการเจรจาธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ และคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ 5 ภูมิภาคทั้งสิ้น 2,400 คน โดยมีผู้ประกอบการที่มีผลงานโดดเด่น 200 ผลงาน/คน มาจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนไทย ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม อาทิ ผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกาย เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์เอกอรรถหัตถศิลป์ เช่น ของใช้ งานฝีมือ งานจักสานของที่ระลึก รวมถึงผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยว ดนตรี และอาหาร รวมถึงจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและการประชาสัมพันธ์ผลงานผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ” ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า โครงการนี้เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับครอบครัว ซึ่งครอบคลุมแรงงานสร้างสรรค์กว่า 2,400 ครัวเรือนใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จาก 20 จังหวัด เป็นที่น่ายินดีอย่างมาก เพราะได้เกิดแรงงานภาคศิลปวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น 2,400 คน และเพิ่มรายได้ครัวเรือนจากการส่งเสริม Soft Power อย่างน้อย 1 คน นอกจากนี้ ภายในงาน วธ. ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสมาคมการค้าส่งเสริมหัตถกรรมไทย เชิญชวนผู้ซื้อรายใหญ่ที่สนใจในสินค้าและบริการวัฒนธรรมเข้าร่วมกิจกรรมการเจรจาธุรกิจ (Business Matching) โดยเน้นกลุ่ม Buyer เป้าหมายหลัก ได้แก่ Trader ห้างสรรพสินค้า สมาคมการค้าภายใต้สภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมและช่องทาง e-commerce และที่สำคัญที่สุดคืออุตสาหกรรม HoReCa คือโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยง เนื่องจากเป็นตลาดที่กำลังเติบโตและต้องการสินค้าที่มีเอกลักษณ์และคุณภาพสูง ซึ่งอุตสาหกรรม HoReCa ไม่ใช่เพียงแค่ตลาดขนาดใหญ่ แต่เป็นโอกาสในการนำเสนอสินค้าที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างแท้จริง อาทิ สิ่งทอพื้นเมือง เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร งานฝีมือของตกแต่งตลอดจนผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีรากฐานจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังนั้นหากพัฒนาและยกระดับสินค้าให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเชื่อว่าจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้เจรจาการค้ากับผู้เล่นรายใหญ่ระดับโลกได้
ปลัด วธ. กล่าวอีกว่า อยากเชิญชวนมาเที่ยวชมงานมหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ” ซึ่งจัด 5 วันระหว่างวันที่ 18 – 22 เมษายน 2568 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น. ใช้พื้นที่ 2 โซน คือ 1 พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนไทยที่มีความโดดเด่น ใน ๔ กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ การท่องเที่ยว ศิลปะ ดนตรี และอาหารจากจำนวน 200 ผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมและได้รับการพัฒนา อาทิ ผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์เอกอรรถหัตถศิลป์ เช่น ของใช้ งานฝีมือ งานจักสาน ของที่ระลึก รวมถึงผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยว ดนตรี และอาหาร และ 2.พาร์ค พารากอน ชั้น Mศูนย์การค้าสยามพารากอน จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนไทยขนาดเล็ก และผลิตภัณฑ์อาหาร อาหารประเภทสมุนไพร รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นแปรรูปจากทุกภูมิภาคของประเทศไทย นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรม รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่น่าสนใจอีกมากมาย
“นี่คือการส่งเสริมศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของ “คน” ให้เป็นเศรษฐกิจของครอบครัวที่มั่นคงอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการพัฒนาทักษะเชิงสร้างสรรค์ควบคู่กับการตลาด ยกระดับกลุ่มรายได้ต่ำและปานกลางสู่ระดับรายได้สูง ช่วยลดช่องว่างทางรายได้ และเพิ่มความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชุมชน รวมถึงส่งเสริมการใช้ทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นพลังทางเศรษฐกิจใหม่ (Cultural Economy /Soft Power) ซึ่งไม่ได้แค่สร้างอาชีพ แต่สร้างผู้ประกอบการที่ใช้ศิลปวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ในการยืนหยัดบนเวทีธุรกิจได้จริง” ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว
รศ.ดร. คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า สถาบันฯ มีส่วนร่วมผลักดันวัฒนธรรมสร้างสรรค์ 4 สาขา เพื่อขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยสู่ความเป็นสากล อีกทั้งเป็นที่ปรึกษาในการจัดทำแผนและแนวทางการดำเนินงานโครงการฯ ให้เป็นรูปธรรมเกิดผลสัมฤทธิ์บรรลุตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์ทั้งในระดับชุมชนและเครือข่ายผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม โดยได้ดำเนินการ 6 ขั้นตอน
- การจัดทำกรอบแนวคิด รูปแบบและแผนการดำเนินงาน
- การศึกษา วิเคราะห์องค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมไทยที่เป็น Soft Power
- การพัฒนาทักษะสู่การเป็นแรงงานศักยภาพสูง
- การจัดมหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจราธุรกิจ
- การประชาสัมพันธ์ และขั้นตอนสุดท้าย และ
- การประเมินผล โดยมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และพัฒนาเศรษฐกิจด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทยสู่การมี Soft Power ที่สามารถแข่งขันได้ในเวทีสากลต่อไปในอนาคต